วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Postmodernism And Modernism

Postmodernism

“โพสต์ โมเดิร์น” “หลังสมัยใหม่” ในภาษาอังกฤษคือ post-modern หรือบ้างก็เขียนว่า postmodern หรือ ลัทธิหลังสมัยใหม่ (Postmodernism, โพสต์โมเดิร์นนิสม์)
เป็นที่เข้าใจกันว่าคำว่า โพสต์โมเดิร์นนิสม์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในงานเขียนชื่อ “อาร์คิเทคเจอร์ แอนด์ เดอะ สปิริต ออฟ แมน” (Architecture and the Spirit of Man) ของ โจเซ็พ ฮัดนอท (Joseph Hudnot) ในปี 1949 ต่อมาอีก 20 ปีให้หลัง ชาร์ลส์ เจนส์ (Charles Jencks) ช่วยทำให้แพร่หลายออกไป จนกระทั่งในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 นักวิจารณ์ศิลปะเริ่มใช้คำๆนี้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปกติ ในตอนนั้นคำว่า โพสต์โมเดิร์น ยังคลุมเครืออยู่มาก แต่โดยมากแล้วบ่งบอกถึงการต่อต้านลัทธิสมัยใหม่ (โมเดิร์นนิสม์)
นักทฤษฎีทั้งหลายเชื่อว่าการเปลี่ยนจากลัทธิสมัยใหม่ไปสู่ หลังสมัยใหม่ นั้นบ่งบอกถึง”สำนึก” ที่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมและระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจ บรรษัทข้ามชาติขนาดมหึมาได้ก้าวเข้ามาควบคุมวิถีชีวิตด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมหาชนที่ทรงพลัง ซึ่งได้เข้ามาทำให้เขตแดนของประเทศชาติหมดความหมาย (ในแง่ของการถ่ายเททางข่าวสารข้อมูล อิทธิพลทางศิลปะและวัฒนธรรม) ตัวอย่างเช่น ภาพงานศิลปะในนิตยสารศิลปะที่สามารถเข้าถึงคนดูคนอ่านในระดับนานาชาติได้อย่างรวดเร็ว
ลัทธิทุนนิยมในยุคหลังสมัยใหม่และหลังอุตสาหกรรมได้ทำให้ผู้บริโภคเกิดวิสัยทัศน์ใหม่ต่อประเด็นต่างๆในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพรมแดนของโลกตะวันออกและตะวันตกที่ถูกกำหนดขึ้นหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 และเรื่องการปฏิวัติในด้านสิ่งแวดล้อมโลก ที่เริ่มขึ้นระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้การเส้นแบ่งแยกระหว่างลัทธิ “สมัยใหม่” กับ “หลังสมัยใหม่” ชัดเจนขึ้น
“หลังสมัยใหม่” เป็นสัญญานที่บ่งบอกถึงความเสื่อมศรัทธาใน “ความเป็นสมัยใหม่” หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หลังสมัยใหม่ ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีอย่างสุดขั้ว แต่ต่อต้าน “ความเจริญ” หรือ “ความก้าวหน้า” แบบลัทธิสมัยใหม่ที่ไม่สนใจ (หรือตอนนั้นยังไม่รู้) ผลกระทบที่รุนแรงต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ความคิดเกี่ยวกับลัทธิ “สมัยใหม่” ต้องการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปสู่ความเป็นสังคมยุคอุตสาหกรรม แต่ “หลังสมัยใหม่” มีความปราถนาที่จะก้าวไปสู่ยุคอิเล็คโทรนิคมากกว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การทำงานศิลปะสมัยใหม่และทฤษฎีศิลปะต้องอยู่ในกฏเกณฑ์มากขึ้น มีกรอบที่ชัดเจนและแคบลงเกือบจะเหลือแค่ “ศิลปะกระแสหลัก” ที่เป็นแนวนามธรรมกระแสเดียว จากแนวคิดและรูปแบบของศิลปะลัทธิ มินิมอลลิสม์ (Minimalism) ที่ทำให้ศิลปินในช่วงนั้นกลับไปสู่ความเรียบง่ายอย่างถึงที่สุด จนเปรียบได้ว่ากลับไปที่เลขศูนย์เลยทีเดียว รูปทรงในศิลปะถูกลดทอนจนเปลือยเปล่า แทบจะไม่มีอะไรให้ดู
การมองโลกในแง่ดีและความคิดในเชิงอุดมคติแบบลัทธิสมัยใหม่ต้องหลีกทางให้แก่ความรู้สึกที่ความหยาบกร้านและข้นดำของลัทธิ หลังสมัยใหม่
ศิลปะแบบ หลังสมัยใหม่ เติบโตขึ้นจาก พ็อพ อาร์ต (Pop Art), คอนเซ็ปชวล อาร์ต (Conceptual Art) และ เฟมินิสต์ อาร์ต (Feminist art) อันเป็นนวัตกรรมของศิลปินในยุคคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 โดยแท้ พวก หลังสมัยใหม่ ได้ทำการรื้อฟื้นรูปแบบ ประเด็นสาระ หรือเนื้อหาหลายอย่างที่พวกสมัยใหม่เคยดูหมิ่นและรังเกียจที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง โรเบิร์ต เว็นทูรี (Robert Venturi) สถาปนิกในยุค 1960 ได้เขียนแสดงความเห็นในงานเขียนที่ชื่อ “คอมเพล็กซิตี้ แอนด์ คอนทราดิคชัน อิน อาร์คิเทคเจอร์” (Complexity and Contradiction in Architecture) (ปี 1966) เกี่ยวกับ “หลังสมัยใหม่” เอาไว้ว่า “คือปัจจัย (ต่างๆ) ที่เป็น “ลูกผสม” แทนที่จะ “บริสุทธิ์”, “ประนีประนอม” แทนที่จะ “สะอาดหมดจด”, “คลุมเครือ” แทนที่จะ “จะแจ้ง”, “วิปริต” พอๆกับที่ “น่าสนใจ”
ด้วยกระแส ลัทธิหลังสมัยใหม่ ทำให้ศิลปะในแนวคิดนี้หันกลับไปหาแนวทางดั้งเดิมบางอย่างที่พวกสมัยใหม่ (ที่ทำงานแนวนามธรรม) ปฏิเสธไม่ยอมทำ เช่น การกลับไปเขียนรูปทิวทัศน์และรูปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และพวก หลังสมัยใหม่ ยังท้าทายการบูชาความเป็นต้นฉบับ ความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่เหมือนใครของพวกสมัยใหม่ ด้วยการใช้วิธีการที่เรียกว่า “หยิบยืมมาใช้” (Appropriation, แอ็บโพรพริเอชัน) มาฉกฉวยเอารูปลักษณ์ต่างๆ จากสื่อและประวัติศาสตร์ศิลป์ มานำเสนอใหม่ในบริบทที่เปลี่ยนไปบ้าง ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์บ้าง เสียดสีบ้าง
ในแวดวงทฤษฎีเกี่ยวกับศิลปะ “หลังสมัยใหม่” ได้ยกเลิกการแบ่งแยกศาสตร์ต่างๆ เช่น การแบ่งศิลปวิจารณ์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และสื่อสารมวลชนออกจากกัน โดยการนำเอาศาสตร์เหล่านั้นมาผสมร่วมกัน แล้วนำเสนอเป็นทฤษฎีหลังสมัยใหม่ เช่นงานทางความคิดของ มิเชล ฟูโค (Michel Foucault) ฌอง โบดริยารด์ (Jean Baudrillard) และ เฟรดริค เจมสัน (Fredric Jameson)
ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในกระแสศิลปะแบบ หลังสมัยใหม่ ในตะวันตกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ นิทรรศการศิลปกรรมย้อนหลัง สำหรับศิลปินที่ดังตั้งแต่อายุ 30 กว่าๆ ทำให้เกิดแรงกดดันต่อศิลปินในการที่จะต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ในหลายกรณีได้ทำให้เกิดการประนีประนอมระหว่างการ “ประสบความสำเร็จในอาชีพศิลปิน” กับ “อุดมการณ์ทางศิลปะ” ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับศิลปินในลัทธิสมัยใหม่เลย


Modernism  
ความคิดสมัยใหม่ (Modernism) *               เราต้องยอมรับว่า สังคมนี้เป็นสังคมสมัยใหม่ที่เจริญทางวัตถุ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันมีทั้งผลดีและเสีย สร้างทั้งความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมเสีย สังคมมนุษย์เจริญก้าวหน้ามากเท่าไร  มนุษย์ยิ่งจำเป็นต้องการรู้ตนเองและสังคมมากเท่านั้น นักคิดทางสังคมทั้งหลายจึงพยายามศึกษาเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ ทั้งหลายในอดีตกับปัจจุบัน เพื่อความรู้เข้าใจความเป็นมนุษย์กับสังคม เห็นความแตกต่างของสิ่งทั้งหลายอย่างชัดเจนที่เป็นไปตามกาลเวลา ตามหลักสัจจธรรมที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอนิจจังไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในด้านความคิด ความเชื่อ ค่านิยม การปฏิบัติ วิทยาการ  สิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีทั้งหลาย เกิดการยอมรับการวิวัฒนาการสังคมกันอย่างแพร่หลาย ยอมรับสิ่งใหม่มากกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่แทนของเดิม ทำให้ของเดิมที่มีอยู่แล้วกลับถูกมองเห็นว่าเก่าโบราณล้าหลังไม่ทันสมัยไม่ยอมรับกันอีกต่อไป อะไรคือความจริง อะไรคือใหม่ อะไรคือเก่า อะไรคือทันสมัย อะไรคือล้าหลัง